top of page
  • Writer's pictureรุ่งรัตน์

Phimai Historical Park

คาราวาน ISAN in love 20 จังหวัดภาคอีสาน พาสัมผัสอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เป็นปราสาทหินทรงขอมโบราณแบบบาปวน ตั้งอยู่ในอำเภอพิมาย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายมิตรภาพ"โคราช - ขอนแก่น"ครอบคลุมพื้นที่สำคัญของเมืองพิมายในอดีต กล่าวคือ ด้านทิศเหนือและตะวันออกจรดแม่น้ำมูล ทิศตะวันตกจรดลำน้ำจัก ราช และด้านทิศใต้ครอบคลุมสุดเขตบาราย

ปราสาทหินพิมาย เป็นแหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณ ค่าทางประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 และมาต่อเติมอีกครั้งในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วยปราสาทหินในสมัยอาณาจักรขอมที่ใหญ่โตและงดงาม สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อใช้เป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ และเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนานิกายมหายานในเวลาต่อมา

ปราสาทหินพิมาย สร้างขึ้นตามความเชื่อเกี่ยวกับสวรรค์ และโลกมนุษย์ ลักษณะผังของปราสาทหินพิมายนั้นสร้างขึ้นคล้ายเขาพระสุเมรุ มีองค์ปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ใจกลางของเทวสถานเป็นเสมือนทางเชื่อมระหว่างโลกกับสวรรค์ ปราสาทหินพิมายเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในอำเภอพิมาย และจังหวัดนครราชสีมา

กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ โดยประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมายในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๓ ตอนที่ ๓๔ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๙ เพื่อดำเนินการบูรณะปราสาทหินพิมายครั้งใหญ่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๒ โดยร่วมกับรัฐบาลฝรั่งเศส ทำการบูรณะปราสาทประธานด้วยเทคนิค "อนัสติโลซีส”กล่าวคือเป็นการนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ของตัวปราสาทหินพิมาย นำมาประกอบเข้าด้วยกันตามหลักวิชาการ และนำกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม รวมทั้งได้บูรณะโบราณสถานในเมืองพิมายอย่างต่อเนื่อง ต่อมากรมศิลปากรจึงได้จัดตั้งโครงการอุทยานประ วัติศาสตร์ พิมายขึ้น และดำเนินการบูรณะปรับปรุงโบราณสถานอื่น ๆ ที่สำคัญจนแล้วเสร็จ

ปราสาทหินแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศใต้ โดยสันนิษ ฐานว่าสาเหตุที่หันหน้าไปทางทิศใต้นั้น เพื่อหันหน้าไปยังเมืองพระนคร เมืองหลวงแห่งอาณาจักรเขมร ส่วนปราสาทหินอื่น ๆ จะหันไปทางทิศตะวันออก อีกทั้ง ยังเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีอายุราว ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้ปรากฏรูปแบบการก่อสร้างที่เกิดขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ที่สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาที่มีต่อศาสนา และแสดงให้เห็นถึงการมีบารมีอันยิ่งใหญ่ที่สามารถนำแรงงานมนุษย์จำนวนมหาศาลมาร่วมสร้างศาสนาสถานซึ่งเปรียบเสมือนจักรวาลจำลองขึ้นไว้ในโลกมนุษย์ กล่าวคือ พบ สะพานนาคราช ยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 2.50 เมตร ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค ตั้งอยู่ด้านหน้าซุ้มประตูฝั่งทิศใต้ของปรางค์ประธาน เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ ตามคติความเชื่อในเรื่องจักร วาลทั้งในศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ ในส่วนของซุ้มประตู (โคปุระ) และกำแพงแก้ว ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้ว ก่อด้วยหินทรายแดง, ซุ้มประตู และระเบียงคด ก่อด้วยหินทรายยกพื้นสูงมีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน, ปรางค์ประธาน เป็นปราสาทองค์ใหญ่ สร้างด้วยหินทรายสีขาวทั้งองค์ ต่างจากซุ้มประตูและกำแพงที่สร้างด้วยหินทรายสีแดง ตั้งอยู่กลางลานภายในระเบียงคดปรางค์พรหมทัต สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ภายในปรางค์มีรูปประติมากรรมฉลององค์ของพระเจ้าชัย วรมันที่ 7 "จำลอง " ปรางค์หินแดงสร้างด้วยหินทรายแดง เหนือกรอบประตูมีทับหลังสลักเป็นภาพเล่าเรื่องในมหากาพย์ภารตะ ตอนกรรณะ(ไม่ใช่กรรณะแต่เป็นอรชุน)ล่าหมูป่า, หอพราหมณ์ ก่อด้วยหินทราย และศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับปรางค์หินแดง และ ได้ปรากฎการสร้างอโรคยาศาลา ซึ่งเปรียบเสมือนสถานพยาบาล บริเวณแนวถนนที่ตัดมาจากกัมพูชาจนถึงพิมาย ตามพระราชดำริของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อีกด้วย


*ติดตามข่าวได้ที่: www.gpssentangfocus.com

#อุทยานประวัติศาสตร์หินพิมาย #ปราสาทหินพิมาย

#หลงรักโคราช

#คาราวานISANinlove20จังหวัดภาคอีสาน

#หลงรักแผ่นดินถิ่นอีสาน

#บ้านปราสาท #การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา #การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ #WorldTrip

#www.gpssentangfocus.com

15 views0 comments

Comments


bottom of page